จ.ลำปาง ประชุมกลุ่มย่อย Focus Group "ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนลำปางสู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามแนวนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ด้วยฐานแนวคิด BCG Model"

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ผศ.ดร.วันชาติ นภาศรี อาจารย์ประจำวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ น.ส.เสาวธาร สมานิตย์ นักวิจัย ม.สวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ร่วมกับทีมวิจัย ประชุมกลุ่มย่อย Focus Group หารือแนวทางดำเนินโครงการ "ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนลำปางสู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามแนวนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ด้วยฐานแนวคิด BCG Model" ณ ห้องประชุม 2205 ม.สวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง

น.ส.เสาวธาร สมานิตย์ นักวิจัย ม.สวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการ "การพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ด้วยแนวคิด BCG Economy" ร่วมกับโครงการจัดตั้งศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง ผสานพลังพัฒนาโครงการนี้ขึ้นเพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเชียงราย สู่แผนงานนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน NEC ด้วยแนวคิด BCG Economy Model

โดยแนวคิดในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจได้ต้นแบบการลงทุนมาจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา สำหรับภูมิภาคภาคเหนือนั้น มีการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor-NEC-Creative Lanna) โดยกำหนดพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูนลำปาง และเชียงราย โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ยกระดับการสร้างงาน สร้างอาชีพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าสู่ตลาดระดับโลก ควบคู่ไปกับการร่วมพัฒนาเมือง สร้างจุดขายที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว จากฐานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและทรัพยากรของท้องถิ่นและงานฝีมือหัตถกรรม (Craf)

จังหวัดลำปางเป็นหนึ่งใน 4 จังหวัดภาคเหนือที่มีศักยภาพ เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ รวมถึงเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดต่างๆในภูมิภาค และสู่ประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณตอนเหนือของประเทศ ประกอบกับมีฐานความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล มีการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดบนพื้นฐานของความรู้ ตลอดจนมีการเชื่อมโยงสู่การพัฒนาทุกระดับ มีการต่อยอดสร้างคุณค่าทางสังคมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจและฐานภูมิทางสังคม และวัฒนธรรมด้วยกระบวนการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้วิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ว่า "ลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยง สร้างสรรค์ น่าอยู่ ยั่งยืน"



คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar